แรงบันดาลใจ

yellow surface

“…ความปรารถนาของทุกคน คงไม่แตกต่างกันนัก คือต้องการให้ตนเองมีความสุขความเจริญ และให้บ้านเมืองมีความสงบร่มเย็น ในปีใหม่นี้ จึงขอให้ท่านทั้งหลายรักษาสุขภาพกายสุขภาพจิตให้สมบูรณ์แข็งแรงเพื่อให้สามารถปฏิบัติภาระหน้าที่ได้เต็มกำลัง ข้อสำคัญ จะคิดจะทำสิ่งใด ให้นึกถึงส่วนรวมและความเป็นไทยไว้เสมอ งานของตนและงานของชาติ จักได้ดำเนินก้าวหน้าไปโดยถูกต้อง เที่ยงตรง ไม่ติดขัด และบรรลุถึงประโยชน์ เป็นความสุข ความเจริญและความสงบร่มเย็นดังที่ทุกคนตั้งใจปรารถนา…”

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทยในโอกาสขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2557
31 ธันวาคม 2556

“…ความปรารถนาดีและความพร้อมเพรียงกันของทุกท่านอย่างที่ได้เห็นในวันนี้ ทำให้ข้าพเจ้าปลื้มใจ มีกำลังใจมากขึ้น ด้วยมีความเชื่อเสมอมาว่า ความเมตตาปรารถนาดี ต่อกันนี้เป็นปัจจัยอย่างสำคัญที่จะยังความพร้อมเพรียงให้เกิดมีขึ้นทั้งในหมู่คณะและในชาติบ้านเมือง และถ้าคนไทยเรายังมีคุณธรรมข้อนี้ประจำอยู่ในจิตใจก็มีความหวังได้ว่า บ้านเมืองไทย ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใด ๆ ก็จะอยู่รอดปลอดภัย และดำรงมั่นคงไปได้ตลอดรอดฝั่งอย่างแน่นอน…”

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
ในการเสด็จออกมหาสมาคมในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา
พุทธศักราช 2555 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม
5 ธันวาคม 2555

“…ในปีใหม่นี้ ข้าพเจ้าจึงปรารถนาอย่างยิ่ง ที่จะเห็นคนไทยมีความสุขถ้วนหน้ากัน ด้วยการให้ คือ ให้ความรักความเมตตากัน ให้น้ำใจ ไมตรีกัน ให้อภัยกัน ให้การสงเคราะห์ อนุเคราะห์กัน โดยมุ่งดี มุ่งเจริญต่อกัน ด้วยความบริสุทธิ์และจริงใจ ทุกคนทุกฝ่ายจะได้สามารถร่วมมือ ร่วมความคิดอ่านกัน สร้างสรรค์ความสุข ความเจริญมั่นคงให้แก่ตน แก่ประเทศชาติอันเป็นสิ่งที่แต่ละคนต้องการ ให้สำเร็จผลได้ ดังที่ตั้งใจปรารถนา…”

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทยในโอกาสขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2554
31 ธันวาคม 2554

“…การกู้เงินที่นำมาใช้ในสิ่งที่ไม่ทำรายได้นั้นไม่ดี อันนี้เป็นข้อสำคัญ เพราะว่าถ้ากู้เงินและทำให้มีรายได้ ก็เท่ากับจะใช้หนี้ได้ ไม่ต้องติดหนี้ ไม่ต้องเดือดร้อน ไม่ต้องเสียเกียรติ…”

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้า ฯ ถวายชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต
4 ธันวาคม 2550

“…เศรษฐกิจพอเพียงนี้ให้ก้าวหน้าไปอีกว่าไม่ใช่ว่าเพียงแต่ปลูกข้าวให้พอกิน มันต้องมีพอที่จะตั้งโรงเรียน มีพอที่แม้แต่จะมีศิลปะ ก็จะถือว่าประเทศไทย จะเจริญเป็นประเทศที่เจริญในทุกทาง จะเดินในทางไม่หิว มีกินหรือไม่จน แล้วก็มีกินแล้วก็มีอาหารใจ อาหารที่เป็นศิลปะหรืออะไรอื่นให้มาก ๆ …”

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
พระราชทานแก่บุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดาฯ พระราชวังดุสิต
4 ธันวาคม 2546

“…ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาที่มีความสำคัญควบคู่กับการพัฒนาความเจริญก้าวหน้า ซึ่งเป็นปัญหาร่วมกันของทุกประเทศ กล่าวคือการพัฒนา ยิ่งรุดหน้าปัญหาคุณภาพสิ่งแวดล้อม และภาวะมลพิษก็ยิ่งก่อตัว และทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ประเทศไทยก็เป็นประเทศหนึ่ง ที่กำลังประสบกับปัญหาดังกล่าวอยู่ในขณะนี้…”

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
4 กรกฎาคม 2545

“…คำว่า Sufficiency Economy นี้ ไม่มีในตำราเศรษฐกิจ จะมีได้อย่างไร เพราะว่าเป็นทฤษฎีใหม่… Sufficiency Economy นั้น ไม่มีในตำรา เพราะหมายความว่าเรามีความคิดใหม่ และโดยที่ท่านผู้เชี่ยวชาญสนใจ ก็หมายความว่า เราก็สามารถที่จะคิดอะไรได้ – จะถูกจะผิดก็ช่าง – ถ้าเขาสนใจเขาก็ จะสามารถที่จะไปปรับปรุงหรือไปใช้หลักการเพื่อที่จะให้เศรษฐกิจของประเทศและของโลกพัฒนาดีขึ้น…”

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้า ฯ ถวายชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต
23 ธันวาคม 2542

“ …ในการศึกษาค้นคว้าวิจัย เพื่อความก้าวหน้าทางการแพทย์และการสาธารณสุขนั้น ผู้ปฏิบัตินอกจากจะมีความตั้งใจที่แน่วแน่ อดทน และเสียสละเป็นอย่างมากแล้ว ยังต้องมีจิตใจที่ประกอบด้วย ความเมตตาอาทรต่อเพื่อนมนุษย์เป็นอย่างสูงด้วย จึงจะพากเพียรกระทำให้สำเร็จได้…การกระทำของท่านเป็นแบบอย่างอันประเสริฐ ที่จะน้อมนำให้บุคคลทั่วไปเกิดศรัทธาชื่นชม และนิยมยินดีที่จะเสียสละกำลังกาย กำลังความคิด ตลอดจนประโยชน์สุขส่วนตัว เพื่อเสริมสร้างประโยชน์สุขและความเจริญรุ่งเรืองให้แก่มนุษย์ชาติทั้งมวล…

ขออวยพรให้ท่านทุกคนถึงพร้อมด้วยความสุข ความเจริญ มีกำลังใจ กำลังกาย และสติปัญญา ที่จะทำประโยชน์เกื้อกูลแก่ชาวโลกได้ยิ่ง ๆ ขึ้น และขอให้ผู้มีเกียรติทั้งหลายที่มาร่วมชุมนุมในพิธีนี้ มีความผาสุกสวัสดีจงทุกเมื่อทั่วกัน…”

พระราชดำรัสในพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปีพุทธศักราช 2541
ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง
28 มกราคม 2542

“…คนเราถ้าพอในความต้องการมันก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย พอเพียง อาจมีมาก อาจมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น…”

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
พระราชทานแก่บุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา
4 ธันวาคม 2541

“…สมัยก่อนนี้ พอมีพอกิน มาสมัยนี้ ชักจะไม่พอมีพอกิน จึงต้องมีนโยบายที่จะทำเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อที่จะให้ทุกคนมีพอเพียงได้…ให้พอเพียงนี้ก็หมายความว่ามีกินมีอยู่ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่หรูหราก็ได้ แต่ว่าพอ…””

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
พระราชทานแก่บุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา
4 ธันวาคม 2541

“…ความพอเพียงในความคิดก็คือ แสดงความคิดของตัว ความเห็นของตัว และปล่อยให้อีกคนพูดบ้าง และมาพิจารณาว่าที่เขาพูด กับที่เราพูด อันไหนพอเพียง อันไหนเข้าเรื่อง ถ้าไม่เข้าเรื่องก็แก้ไข เพราะถ้าพูดกันโดยที่ไม่รู้เรื่องกัน ก็จะกลายเป็นทะเลาะกัน…”

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
พระราชทานแก่บุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา
4 ธันวาคม 2541

“…คำว่าพอเพียง มีความหมายอีกอย่างหนึ่ง มีความหมายกว้างออกไปอีก ไม่ได้หมายถึง การมีพอ สำหรับใช้เองเท่านั้น แต่หมายความว่า พอมี พอกิน…”

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
พระราชทานแก่บุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา
4 ธันวาคม 2541

“…เราควรจะปฏิบัติให้ พอมีพอกิน พอมีพอกิน นี้ก็แปลว่า เศรษฐกิจพอเพียง นั่นเอง ถ้าแต่ละคน พอมี พอกิน ก็ใช้ได้ยิ่งถ้าทั้งประเทศ พอมี พอกิน ก็ยิ่งดี…”

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
พระราชทานแก่บุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา
4 ธันวาคม 2541

“…คำว่า พอเพียง มีความหมายว่า พอมีกิน เศรษฐกิจแบบพอเพียง หมายความว่า ผลิตอะไรมีพอที่จะใช้…”

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
พระราชทานแก่บุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา
4 ธันวาคม 2541

“…แม้บางอย่างอาจจะดูฟุ่มเฟือย แต่ถ้าทำให้มีความสุข ถ้าทำได้ ก็สมควรที่จะทำ สมควรที่จะปฏิบัติ อันนี้ก็หมายความอีกอย่างของเศรษฐกิจ หรือระบบพอเพียง…”

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
พระราชทานแก่บุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา
4 ธันวาคม 2541

“…ให้พอเพียงนี้ ก็หมายความว่า มีกินมีอยู่ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่หรูหราก็ได้ แต่ว่าพอ…”

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
พระราชทานแก่บุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา
4 ธันวาคม 2541

“…คนเราถ้าพอในความต้องการก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อย ก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าทุกประเทศ มีความคิด – อันนี้ไม่ใช่เศรษฐกิจ – มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่าพอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข พอเพียงนี้อาจจะมีมาก อาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น ต้องให้พอประมาณตามอัตภาพพูดจาก็พอเพียงทำอะไรก็พอเพียง ปฏิบัติตนก็พอเพียง…”

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
พระราชทานแก่บุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา
4 ธันวาคม 2541

“…การที่จะทำโครงการอะไรจะต้องทำ ด้วยความรอบคอบ และอย่าตาโตเกินไป แต่ข้อสำคัญที่อยากจะพูดถึง คือ ถ้าเราทำโครงการที่เหมาะสม ขนาดที่เหมาะสม อาจจะไม่ดูหรูหรา แต่จะไม่ล้ม หรือถ้ามีอันเป็นไป ก็ไม่เสียมาก…”

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
พระราชทานแก่บุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดาฯ พระราชวังดุสิต
4 ธันวาคม 2540

“…หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตนั้นอยู่ที่น้ำ ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้…”

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
พระราชทานแก่คณะบุคคลที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล
เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิตาลัย
4 ธันวาคม 2536

“…เมื่อจะใช้วิชาการ จำเป็นต้องเลือกสรร เฉพาะแต่ส่วนที่ถูกต้องตรงกับงานที่ทำ มิใช่นำมาใช้พร้อมกันทั้งหมด หรือนำมาใช้ด้วยอาการที่เรียกว่าเถรตรง เพราะการทำงานดังนั้น จะทำให้ความคิดเกิดสับสน ตึงเครียด และลังเลสงสัยจนทำงานไม่ได้ หรือทำได้ไม่สำเร็จ เนื่องจากตกเป็นทาสของวิชา…”

พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
23 กรกฎาคม 2530

“…ทุกวันนี้ ประเทศไทยยังมีทรัพยากรพร้อมมูล ทั้งทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรบุคคล ซึ่งเราสามารถนำมาใช้เสริมสร้างความอุดมสมบูรณ์ และเสถียรภาพอันถาวรของบ้านเมืองได้เป็นอย่างดี ข้อสำคัญ เราต้องรู้จักใช้ทรัพยากรนั้นอย่างฉลาด คือไม่นำมาทุ่มเทใช้ให้เปลืองไปโดยไร้ประโยชน์ หรือได้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า หากแต่การระมัดระวังใช้ด้วยความประหยัดรอบคอบ ประกอบด้วยความคิดพิจารณาตามหลักวิชา เหตุผล และความถูกต้องเหมาะสม โดยมุ่งถึงประโยชน์แท้จริงที่จะเกิดแก่ประเทศชาติ ทั้งในปัจจุบันและอนาคตอันยืนยาว…”

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
ในการเสด็จออกมหาสมาคม ในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา
5 ธันวาคม 2529

“…ขอบใจมากที่ต้องเหน็ดเหนื่อยทำงานในหมู่บ้านชนบท และต้องประสบปัญหาต่าง ๆ มากมาย ขอให้ช่วยกันพัฒนาคนให้มีความฉลาด สามารถช่วยตนเองได้…”

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
พระราชทานแก่คณะผู้อำนวยการ
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
17 มีนาคม 2529

“…การที่จะรณรงค์ที่จะต่อสู้เพื่อให้คนมัธยัสถ์และประหยัด ก็อยู่ที่ตัวเอง ไม่ใช่อยู่ที่คนอื่น ตัวเองต้องทำเอง ต้องฝึกตัวให้รู้จักความพอดีพอเหมาะ ถ้าไม่พอดีไม่พอเหมาะ มันจะเกิดทุจริตในใจได้…”

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
พระราชทานแก่คณะลูกเสือชาวบ้านที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท
ในโอกาสเสด็จฯ กลับจากแปลพระราชทานจากจังหวัดสกลนคร ณ สนามบินดอนเมือง
2 ธันวาคม 2527

“…ในอันที่จะทำงานของตนให้ประสานกับงานอื่น และประสานกับฝ่ายอื่นบุคคลอื่น จะปฏิบัติตัวปฏิบัติงานอย่างคับแคบมิได้เป็นอันขาด ท่านจะต้องทำตัวทำใจให้กว้างขวาง หนักแน่น และเที่ยงตรง ยึดถือเหตุผลความถูกต้อง ความพอเหมาะพอควร และประโยชน์ส่วนรวมร่วมกันเป็นเป้าหมาย…”

พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
8 สิงหาคม 2527

“…การที่ไปกู้ยืมเขา ถ้าเอาเงินมาใช้ในทางที่ถูก สร้างสรรค์กิจการให้มีกำไรได้ให้มีความก้าวหน้าได้ ก็ควรทำได้ โดยเฉพาะไปกู้ยืมจากธนาคาร ซึ่งตั้งขึ้นมาโดยเฉพาะสำหรับการเกษตรและสหกรณ์ อันนี้ก็นับว่าปลอดภัย แต่ว่าถ้ากู้ยืมไปซื้อเหล้ามาดื่ม หรือไปเล่นการพนันแล้วไปกู้ยืมเขามา ไม่มีทางที่จะใช้หนี้เขาได้ โดยเฉพาะอย่างดื่มเหล้านั้น ดื่มไปมันก็ไปแล้ว ร่างกายเราก็ทรุดโทรมก็ยิ่งทำให้เสียสองเท่า ฉะนั้นการที่จะไปกู้ยืมในฐานะบุคคลก็ตาม หรือ ในฐานะสหกรณ์ก็ตาม จะต้องคิดให้ดีว่าการกู้ยืมนั้นมีเหตุผลหรือไม่…”

พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
พระราชทานแก่ผู้นำสหกรณ์ภาคการเกษตรทั่วประเทศ ณ ศาลาดุสิดาลัย
10 พฤษภาคม 2519

“…สิ่งที่ดีงามนั้นทำมันน่าเบื่อ บางทีเหมือนว่าไม่ได้ผล ไม่ดัง คือ ดูมันควรทำดีนี่แต่ขอรับรองว่า การทำให้ดีควรต้องมีความอดทนเวลาข้างหน้าจะเห็นผลแน่นอน ในความอดทนของตนเอง…”

พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
พระราชทานแก่นักเรียน นักศึกษา ครู และอาจารย์ ในโอกาสเข้าเฝ้าฯ ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร 27 ตุลาคม 2516

“…การสร้างสรรค์ตนเอง การสร้างบ้านเมืองก็ตามมิใช่ว่าสร้างในวันเดียว ต้องใช้เวลาต้องใช้ความเพียร ต้องใช้ความอดทน เสียสละ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือความอดทน ความไม่ย่อท้อ ไม่ย่อท้อในสิ่งที่ดีงาม…”

พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
พระราชทานแก่นักเรียน นักศึกษา ครู และอาจารย์ ในโอกาสเข้าเฝ้าฯ ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร 27 ตุลาคม 2516

“…”เหนียว” ไว้ อดทนในความดี ทำให้ดี เหนียวไว้ในความดีแล้ว ภายภาคหน้าจักได้ผลอย่างแน่นอน…”

พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
พระราชทานแก่นักเรียน นักศึกษา ครู และอาจารย์ ในโอกาสเข้าเฝ้าฯ ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร 27 ตุลาคม 2516

“…ความเพียรนี่ หมายความว่า ไม่ใช่แค่เพียงความเพียรในการทำงานเท่านั้น แต่หมายถึงความเพียรที่จะข่มใจตัวเองด้วย…”

พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
พระราชทานแก่นักเรียน นักศึกษา ครู และอาจารย์ ในโอกาสเข้าเฝ้าฯ ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร 27 ตุลาคม 2516

“…คำว่า “พอสมควร” นี้ เป็นคำที่สำคัญที่สุดแล้ว อาจเป็นใจกลางของการปฏิบัติทุกอย่าง…”

พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
พระราชทานแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ในโอกาสเสด็จฯ ไปทรงดนตรี ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
1 มีนาคม 2517

“…คุณธรรมนั้นมีที่เขาเรียกว่าพลัง ไม่มีพลังใดที่จะมาสู้พลังคุณธรรม โดยเฉพาะของเมตตากรุณา…”

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ซึ่งเข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯถวายเงิน
โดยสมเด็จพระราชกุศลบำรุงโรงเรียนราชประชาสมาสัย
ณ ศาลาดุสิดาลัย
25 พฤษภาคม 2519

“…เศรษฐกิจของเราขึ้นอยู่กับการเกษตรมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว รายได้ของประเทศที่ได้มาใช้สร้างความเจริญด้านต่าง ๆ เป็นรายได้จากการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ จึงอาจกล่าวได้ว่าความเจริญของประเทศต้องอาศัยความเจริญของการเกษตรเป็นสำคัญ และงานทุก ๆ ฝ่ายจะดำเนินก้าวหน้าไปได้ก็เพราะการเกษตรของเราเจริญ…”

พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรและอนุปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
9 กรกฎาคม 2507

“…ชาติไทยเรานั้นได้มีเอกราช มีภาษา ศิลปะและขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นของตนเองมาช้านาน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องรักษาสิ่งเหล่านี้ไว้ให้คงทนถาวรตกเป็นมรดกของอนุชนรุ่นหลังต่อไป…”

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
ในพิธีเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง จังหวัดสุโขทัย
25 มกราคม 2507

“…กสิกรรมและเกษตรกรรมเป็นเรื่องสำคัญมาก ท่านทั้งหลายจะต้องช่วยกันค้นคว้าหาความรู้และความชำนาญให้กว้างขวางยิ่งขึ้นเสมอ และพยายามส่งเสริมเผยแพร่ความรู้ที่ได้ศึกษามาแก่พี่น้องกสิกร และเกษตรกรให้ได้ทราบถึงวิธีปฏิบัติอันถูกต้องตามหลักวิชาอีกด้วย จึงจะเกิดประโยชน์แก่สังคมในด้านนี้ และเป็นผลดีแก่ประเทศชาติสืบไป…”

พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรและอนุปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
19 กรกฎาคม 2505

“…จงดำรงชีวิตและประกอบอาชีพโดยอาศัยวิชาความรู้ที่ได้รับมา ประกอบด้วยความยั้งคิดชั่งใจ และศีลธรรมอันดีงามเพื่อความเจริญก้าวหน้าของตนและของประเทศชาติ…”

พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
18 กันยายน 2504