ประวัติสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย

เนื่องจากในปี พ.ศ. 2533 ได้เกิดการเรียกร้องของเกษตรกรชาวสวนยาง ขอความเป็นธรรมจากราคายางที่ตกต่ำ โดยมีการปิดทางรถไฟที่ชุมทางรถไฟทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งนายบรรหาร ศิลปอาชา
เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในสมัยนั้น และเป็นผู้รับผิดชอบกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ได้เดินทางไปแก้ปัญหา และมีความเห็นว่าควรจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายยางแห่งชาติ (กนย.) โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาเรื่องยาง ซึ่งการจัดตั้งนั้นต้องประกอบด้วยตัวแทนรัฐบาล ตัวแทนพ่อค้ายางและตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยาง แต่จากการสำรวจปรากฏว่ายังไม่มีผู้แทนเกษตรกรชาวสวนยาง
ในระดับประเทศ ดังนั้น นายบรรหาร ศิลปะอาชา รัฐมนตรีฯ จึงสั่งให้นายอุดร ตันติสุนทร รัฐมนตรีช่วยฯ ดำเนินการจัดตั้งสถาบันเกษตรกรระดับประเทศ เพื่อเข้าไปเป็นคณะกรรมการนโยบายยางแห่งชาติ (กนย.)
โดยให้กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้ดำเนินการ จากการสำรวจปรากฏว่ามีสมาคมชาวสวนยางอยู่ 3 สมาคม คือ สมาคมชาวสวนยางจังหวัดระยอง, ชลบุรี และภูเก็ต จึงรวบรวม 3 สมาคม จดทะเบียนเป็นสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2533 เพื่อส่งผู้แทนเข้าเป็นคณะกรรมการนโยบายยางแห่งชาติ ซึ่งจากการคัดเลือกนายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ได้เป็นนายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย
และเป็นตัวแทนในคณะกรรมการนโยบายยางแห่งชาติ ซึ่งสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย
ได้มีนายกสมาคมฯ ตามรายชื่อดังนี้

  1. นายอุทัย สอนหลักทรัพย์
  2. นายสมศักดิ์ พงภัณฑ์ฑารักษ์
  3. นายบุญส่ง นับทอง
  4. นายสาฝีอี โต๊ะบู
  5. นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ (นายกสมาคมฯ คนปัจจุบัน)

วัตถุประสงค์

  • 1.เพื่อเผยแพร่ข่าวสารและความรู้วิชาการยาง การแก้ไขปัญหายางพาราอย่างต่อเนื่อง
  • 2.สนับสนุนและช่วยเหลือการเพิ่มผลผลิตยาง เพิ่มรายได้ให้แก่สมาชิก
  • 3.เพื่อประสานงานการส่งบุตรหลานเรียนต่อไทยและต่างประเทศ
  • 4.เพื่อเป็นองค์กรกลางในการให้ความช่วยเหลือติดต่อประสานงานกับภาครัฐและเอกชน เพื่อสนองนโยบายของภาครัฐตลอดจนแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ของสมาชิก

เป้าหมาย

  • 1.เผยแพร่ข่าวสารและความรู้วิชาการยาง การแก้ไขปัญหายางพาราอย่างต่อเนื่อง
  • 2.สมาชิกได้รับการช่วยเหลือการเพิ่มผลผลิตยาง มีรายได้เพิ่มขึ้น
  • 3.บุตรหลานของสมาชิกได้รับการสนับสนุนให้เรียนต่อไทยและต่างประเทศ
  • 4.ได้ช่วยเหลือในการติดต่อประสานงานกับภาครัฐและเอกชน สนองตอบต่อนโยบายของภาครัฐตลอดจนสามารถแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ของสมาชิก

บทบาทหน้าที่ของสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย

  • 1.ส่งเสริมให้ชาวสวนยางรวมตัวกันเป็นกลุ่มเพื่อร่วมกันคิดช่วยกันทำและเป็นตัวกลางในการถ่ายทอดนวัตกรรม
  • 2.พัฒนาในการผลิตยางพาราแบบครบวงจรทั้งต้นน้ำกลางน้ำและปลายน้ำ
  • 3.ร่วมกัน นำเสนอปัญหาวิธีการแก้ไขและความต้องการของชาวสวนยางต่อภาครัฐ
  • 4.รักษาสิทธิ์อันพึงได้รับของชาวสวนยางที่มีต่อภาครัฐและเอกชน 
  • 5.เป็นอิสระไม่ขึ้นกับพรรคการเมืองหรือหน่วยงานใดใดเป็นตัวแทนของชาวสวนยางอย่างแท้จริง

ผลการดำเนินงานที่สมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทยเป็นผู้ริเริ่ม พอสังเขป

  • จัดตั้งตลาดกลางยางพาราภาคตะวันออก ณ จังหวัดระยอง
  • 1.เป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งโรงงานต้นแบบเพื่อฝึกอบรมเกษตรกรอุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์ยางที่จังหวัดระยอง จังหวัดขอนแก่น จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดปัตตานี
  • 2.เป็นประธานยกร่าง พรบ.การยางแห่งประเทศไทย
  • 3.จัดประชุมเกษตรกรชาวสวนยางในอาเชี่ยน 8 ประเทศ โดยมีประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ
  • 4.เป็นผู้เสนอการปลูกยาง 1 ล้านกล้า ในจังหวัดภาคอีสานและภาคเหนือ
  • 5.แก้ปัญหาให้เกษตรกรชาวสวนยางที่มีปัญหายางตาสอย
  • 6.แก้ปัญหาที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์ของ กยท.  เป็นสีชมพู
  • 7.ร่วมมือกับ ปตท. SCG และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เรื่องคาร์บอนเครดิตในสวนยางเป็นอาชีพเสริมแก่เกษตรกรชาวสวนยาง
  • 8.จัดมหกรรมยางพารา ครั้งที่ 1 ใน EEC
  • 9.จัดเสนอให้ยางพาราอยู่ในคัตเตอร์ที่ 6 ตามคติ ครม.ฯ 9 สิงหาคม 2565
  • 10.เสนอให้รัฐบาลแก้ปัญหาถุงมือยางที่โดนสหรัฐอเมริกาแบนถุงมือยางธรรมชาติ
  • 11.เสนอให้กระทรวงการคลัง และกระทรวงมหาดไทย แก้ปัญหาภาษียางที่ตั้งกฎเกณฑ์สูง 80 ต้น/ไร่
  • 12.ประสานงานเพื่อผลักดันการมอบทุนการศึกษาให้กับลูกหลานเกษตรกร :ทุนแลกเปลี่ยนไทย-จีนกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีชิงเต่า
  • 13.ผลักดันการพัฒนาหลักสูตรการเรียน การสอน รวมทั้งด้านวิจัยและพัฒนา (R & D) ในการใช้เทคโนโลยี รวมทั้งการใช้นวัตกรรมที่ทันสมัย เพื่อพัฒนาวงการยางพาราในภาคอุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์ยางพารา
  • 14.เป็นตัวแทนของชาวสวนยางในการแก้ไขปัญหาเรื่องราคายางตกต่ำ  และผลักดันอุตสาหกรรมแปรรูปยางพารา และอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์  ในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร อย่างต่อเนื่อง
  • 15.ผลักดันการแก้ไขเรื่องคุณภาพของถุงมือยางในการส่งออกและส่งเสริมการปลูกยางพันธุ์ดี ปี 2565

นโยบายและแผนการขับเคลื่อนในอนาคต

ผลักดันให้มีการแปรรูปผลผลิตยางพาราภายในประเทศเป็นอุตสาหกรรมยางมากกว่าส่งวัตถุดิบยางพาราเป็นสินค้าออกคู่ไปกับดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ผลิตภัณฑ์สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้  รวมทั้งร่วมขับเคลื่อนให้มีการตรวจวัดคาร์บอนด้วยนวัตกรรมและสามารถซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตเป็นอาชีพเสริมให้แก่เกษตกร ให้เป็นวาระแห่งชาติก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางตลาดยางพารา  (Hub) ของโลกในอนาคต