ดัน “สวนยางระยอง” ขาย CO2 วรุณาเครือ ปตท.ดึง 2 หมื่นไร่รับมือ CBAM

Retrieved from https://www.prachachat.net/local-economy/news-1464996

วรุณาเครือ ปตท.ผนึกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางฯ-กยท.ดัน “สวนยาง จ.ระยอง” 2 หมื่นไร่ นำร่องขายคาร์บอนเครดิต ก่อนชง อบก.อนุมัติขายคาร์บอนเครดิตให้ทันกลางปี 2567

ดร.อุทัย สอนหลักทรัพย์ นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทางสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทยเตรียมจัดงาน “มหกรรมยางพาราและเกษตรแฟร์ไทย-จีน EEC 2024” ระหว่างวันที่ 5-15 เมษายน 2567 ที่จังหวัดระยอง โดยมีเครือข่ายชาวสวนยางพารา หน่วยงานภาครัฐ รวมถึงมหาวิทยาลัยชิงเต่า ประเทศจีน ฯลฯ เข้าร่วม ที่สำคัญภายในงานจะเปิดให้เกษตรกรมาลงทะเบียนซื้อขายคาร์บอนเครดิตยาง

โดยมี บริษัท วรุณา (ประเทศไทย) จำกัด หรือ VARUNA ผู้ให้บริการเทคโนโลยีอัจฉริยะในภาคการเกษตรและสิ่งแวดล้อม ภายใต้การกำกับดูแลของบริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส หรือ ARV ในเครือ ปตท.สผ., บริษัท SCG ปูนซิเมนต์ และธนาคารกรุงไทย มาร่วมดำเนินการ

โดยมีการเปิดอบรมให้ความรู้ในการดำเนินการโครงการคาร์บอนเครดิตสวนยางไปตลอดงาน การเข้าร่วมโครงการจะทำให้ชาวสวนยางมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายคาร์บอนเครดิต

“ที่ผ่านมา กยท.ระยองได้มีการนำร่องโครงการซื้อขายคาร์บอนเครดิต โดยทางบริษัท วรุณาในเครือ ปตท.ได้เข้ามาช่วยสำรวจเก็บข้อมูลต่าง ๆ เรื่องการกักเก็บคาร์บอนในสวนยางไประดับหนึ่งแล้ว ก่อนที่จะขยายผลไปยังสวนยางทั่วประเทศต่อไป” ดร.อุทัยกล่าวและว่า

สำหรับการจัดงาน “มหกรรมยางพาราและเกษตรแฟร์ไทย-จีน EEC 2024” ภายในงานมีการจัดอบรมสัมมนาวิชาการและแสดงนวัตกรรมเกี่ยวกับยางพารา งานแสดงเครื่องจักรผลิตยางแปรรูปยางทันสมัย มีการจับคู่ธุรกิจการซื้อขายผลิตภัณฑ์ยางทุกรูปแบบ ยางก้อนถ้วย น้ำยางสด ยางรมควัน ยางแท่ง ฯลฯ

นายองค์กรณ์ รจนา ผู้ช่วยผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทยจังหวัดระยอง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทาง กยท.จังหวัดระยองได้นำร่องดำเนินการโครงการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตสวนยางมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2566

โดยมีการหารือกับสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย และบริษัท วรุณา มาร่วมกันดำเนินโครงการ และมีการประสานงานกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. เกี่ยวกับรูปแบบวิธีปฏิบัติในการบริหารจัดการสวนยาง ตามเป้าหมายโครงการตั้งเป้าต้องการให้มีเกษตรกรเข้าร่วมประมาณ 20,000 ไร่

ปัจจุบันมีเกษตรกรชาวสวนยางที่อยู่ในพื้นที่ อ.เมือง และ อ.บ้านค่าย จ.ระยอง เข้าร่วมประมาณ 7,000 ไร่ และคาดว่าภายในไตรมาส 1 ของปี 2567 จะมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการครบตามเป้าหมาย

“ที่ผ่านมา กยท.มีโครงการสนับสนุนให้เกษตรกรชาวสวนยางมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการโค่นไม้ยางพาราเก่าและปลูกใหม่ทดแทน โดยสามารถยื่นคำร้องรับเงินสนับสนุนการปลูกแทนจาก กยท.อัตราไร่ละ 16,000 บาท เราจะดึงเกษตรกรกลุ่มนี้มาเข้าร่วม จะทำให้ครบ 2 หมื่นไร่

การกำหนดเป้าหมายที่ 20,000 ไร่ เพราะมีตัวอย่างบทเรียนจากผู้บริหาร สปป.ลาวที่เคยทำโครงการขายคาร์บอนเครดิตมาตั้งแต่ 9 ปีที่แล้ว ได้นำโมเดลที่เคยทำในพื้นที่ 2,500 ไร่ ต้องใช้เวลา 9 ปีถึงจะคืนทุน จึงมีการคิดต่อยอดจากโมเดลดังกล่าวว่า ถ้าทำในพื้นที่สวนยาง 20,000 ไร่ เกษตรกรสามารถคืนทุนในการบริหารจัดการได้เร็ว

และสามารถจ่ายเงินให้เกษตรกรได้เร็วภายใน 3 ปี โดยปีแรกเป็นช่วงการเก็บข้อมูลพื้นฐาน ปีที่ 2 เก็บข้อมูลเพื่อประเมินคาร์บอนเครดิต ปีที่ 3 มีการประเมินคำนวณได้ว่า แต่ละสวนยางมีปริมาณกักเก็บคาร์บอนได้เท่าไหร่ ตามกติกาและกฎเกณฑ์ที่ อบก.กำหนด

ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการเปิดรับสมัครเกษตรกรชาวสวนยางเข้าร่วมโครงการ หลังจากนั้นมีการอบรม เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจกับเกษตรกร ว่ายังไม่ได้เงินจากการขายคาร์บอนเครดิตทันที ต้องดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ปีที่ 3 ถึงเริ่มขายได้

ทั้งนี้ ตามกรอบโครงการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตสวนยางทั้งหมดของ กยท. จ.ระยอง จะต้องแล้วเสร็จและนำเสนอให้ อบก.อนุมัติภายในกลางปี 2567 เพื่อเสนอขายคาร์บอนเครดิต เพื่อให้ทันกับมาตรการที่สหภาพยุโรปเริ่มบังคับใช้มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) 6 กลุ่มสินค้าคือ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย ไฟฟ้า และไฮโดรเจน

นายองค์กรกล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันทั้งจังหวัดระยองมีพื้นที่ปลูกยางที่มีเอกสารสิทธิที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. ประมาณ 3.5 แสนกว่าไร่ และไม่มีเอกสารสิทธิประมาณ 7 หมื่นไร่ ที่ผ่านมาบริษัท วรุณา ได้เข้ามาสำรวจ และมีการประเมินพื้นที่ปลูกยางพาราเบื้องต้นในจังหวัดระยอง ด้วยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ภาพถ่ายทางอากาศประเมินค่าเฉลี่ยอายุการปลูกยาง 10-15 ปี พบว่ามีการกักเก็บคาร์บอนประมาณเกือบ 2 ตันคาร์บอนต่อไร่ต่อปี

หลังจากหักการใช้ปุ๋ยเคมีและสิ่งต่าง ๆ ในสวนยาง อย่างไรก็ตาม หลังจากนำร่องโครงการในระยองแล้ว จะขยายไปยังจังหวัดต่าง ๆ ในพื้นที่ภาคตะวันออก เช่น ชลบุรี ฉะเชิงเทรา สระแก้ว ต่อไป