“เซาท์แลนด์ฯ” ชิงประมูลยางแผ่น 63.09 บาท ทำนิวไฮ รอบ 2 ปี

ชาวสวนเฮ โรงงานน้ำยางข้น-ยางแผ่น เปิดศึกแย่งซื้อ ดันราคาพุ่ง “เซาท์แลนด์ฯ” ชิงประมูลยางแผ่น 63.09 บาท ทำนิวไฮ รอบ 2 ปี ขณะ “เพิก” ยังฝันต่อยางกิโลฯละ ไม่ต่ำกว่า 100 บาท

นายเพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (ประธานบอร์ด กยท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า วันที่ 16 มกราคม 2567 บริษัท เซาท์แลนด์รับเบอร์ จำกัด ได้เข้าไปประมูลซื้อยางพาราในสำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ที่กิโลกรัม(กก.)ละ 63.09 บาท ทำนิวไฮสูงสุดรอบ 2 ปี เป็นผลสืบเนื่องจากสมาคมยางพาราไทย ได้เข้ามาหาที่สำนักงานฯ และมีบางรายที่ได้ไปเยี่ยมถึงที่บริษัท ได้มีการพูดคุยกันถึงแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายราคายางตามนโยบายของร้อยเอกธรรมนัส  พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะมุ่งส่งเสริมยางพาราตามข้อกำหนดของ The EU Deforestation-free Regulation (EUDR) หรือยางที่ไม่ทำลายป่าหรือสิ่งแวดล้อมที่จะเป็นตัวชี้นำราคายางโลก

“ประเทศที่จะทำยาง EUDR ในโลกได้ คือ ประเทศไทย และองค์กรที่จะทำได้ในประเทศไทยก็คือ กยท. ดังนั้นความชัดเจนที่ส่งสัญญาณชัดไปถึงผู้ประกอบการก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือ ถ้ามุ่งไปทำสวนยางให้ตอบโจทย์ EUDR ให้กับต้นไม้ยางพาราทุกต้นในประเทศได้ ราคาตลาดที่ไม่ใช่เป็น EUDR จะมีส่วนต่างไม่ต่ำกว่า 3 บาท/กก. อาจจะไปแตะราคาขึ้นไปสูงถึง 5 บาทได้ด้วย เพราะเป็นความต้องการของคนทั้งโลกที่เรียกหา EUDR ”

นายเพิก กล่าวอีกว่า ราคายาง ตนอยากจะผลักดันทำให้เกษตรกรได้รับประโยชน์เหมือนถูกหวย 3 ตัวตรง ไม่ใช่ 2 ตัวท้ายอีกต่อไป โดยอาศัยในเรื่องการบริหารจัดการ และความเป็นไปได้ ซึ่งต้องขอขอบคุณรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ที่ให้โอกาสในการให้มาทำงานเพื่อพี่น้องชาวสวนยาง

“วันนี้คนที่ไปยุ่งเกี่ยวกับยางเถื่อน โรงงานหลายโรงก็รับปากแล้วว่าจะไม่รับซื้อ ดังนั้นพวกยี่ปั้วหากนำยางเถื่อนเข้ามาขายก็ให้ระวังไว้ว่าจะขาดทุน เพราะจะเอาไปขายที่ไหนไม่ได้”

ด้านนายชูวิทย์  จึงธนสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER กล่าวถึงสถานการณ์ยางพาราในช่วงนี้ว่าได้ปรับราคาขึ้น เป็นผลจากผู้ประกอบการเกรงว่าซัพพลายจะขาดแคลน รวมถึงจากปัญหาน้ำท่วมในภาคใต้ ขณะนี้เวลานี้ได้เข้าสู่ปลายฤดูกรีดยางที่จะเข้าสู่ฤดูแล้งแล้ว ต้องเร่งซื้อของเพื่อส่งมอบให้กับลูกค้า ซึ่งมองว่ายางแผ่นอาจจะมีโอกาสราคาปรับตัวสูงขึ้นถึง 65 บาท/กก. มีความเป็นไปได้ อย่างไรก็ดีจากภาวะเอลนีโญ ไม่มีใครกล้าประมาณการในเรื่องผลผลิต ดังนั้นในช่วงนี้ถ้ามีผลผลิตก็เร่งซื้อเพื่อลดความเสี่ยงไว้ก่อน เพราะไม่แน่ใจว่าในอนาคตจะมีผลผลิต

สอดคล้อง นายพงศ์นเรศ  วนสุวรรณกุล นายกสมาคมน้ำยางข้นไทย กล่าวว่า ซัพพลายยางพาราในช่วงนี้ ปริมาณน้ำยางมีน้อยมาก ผู้ประกอบการแย่งกันซื้อ ทำให้บางพื้นที่ราคาน้ำยางสดปรับสูงถึง กก.ละ 60 บาท  ขณะที่ผู้ค้ารายใหญ่ (จีน) ยังชะลอรับซื้อ ขณะที่มองว่ากำลังเข้าสู่ฤดูยางผลัดใบแล้ว ถ้าในช่วงนี้ไม่รีบซื้อ ก็ห่วงว่าเดือนกุมภาพันธ์จะไม่มียาง และปีนี้ก็คาดว่าจะแล้งยาว อาจจะส่งผลทำให้น้ำยางไม่มีในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน ดังนั้นจึงเป็นที่มาทำให้ทุกคนต้องเร่งซื้อกัน จะขายได้หรือไม่ได้ ก็ต้องซื้อไว้ก่อนเพื่อป้อนให้กับลูกค้าประจำ

ด้านนายอุทัย  สอนหลักทรัพย์ นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย กล่าวถึง ราคายางมีแนวโน้มปรับขึ้น จากที่ทุกประเทศที่ปลูกยาง ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ประสบปัญหาโรคใบร่วง ทำให้ผลผลิตในประเทศลดลงมาก รวมทั้งประเทศไทยด้วย  ได้ส่งผลกระทบแล้วโดยเฉพาะผู้ค้ารายใหญ่วิกฤตไม่สามารถหายางส่งให้ลูกค้าตามคำสั่งซื้อได้ ตอนนี้ก็ต้องออกไปกว้านหาซื้อตามประเทศต่าง ๆ เพื่อส่งมอบให้ลูกค้า ซึ่งจะเห็นว่าวิกฤตขาดในปีนี้รุนแรงจริง ดังนั้นราคายางปรับขึ้นก็นับว่าเป็นโอกาสดี สำหรับผู้บริหารที่เข้ามาบริหารยางทั้งประเทศ ซึ่งก็ขอให้ดีตลอดไป

“ใครก็ได้ที่มาทำให้ราคายางดี ผมก็คิดว่าเป็นประโยชน์กับเกษตรกร ก็ขอให้ยั่งยืน ราคามีเสถียรภาพ อีกด้านหนึ่งก็เป็นผลดีกับรัฐมนตรีเกษตรฯ และบอร์ด ที่เข้ามาบริหารยางพาราในช่วงนี้ที่เข้ามาดูแล สิ่งที่จะต้องทำก็คือในการวางแผนระยะยาว อาทิ เปลี่ยนพันธุ์ยาง และการขายคาร์บอนเครดิต  รวมทั้งปลูกพืชร่วมยาง ทำผลิตภัณฑ์ยางให้เป็นอาชีพเสริมและมีรายได้ถาวร ในช่วงที่ชาวสวนยางไม่ได้กรีดยาง แต่ก็เห็นอยู่ว่า กยท.ก็ดำเนินการอยู่หลายมาตรการ รวมถึงการทำโฉนดต้นไม้ยางนำมาค้ำประกันเงินกู้ ก็ดีทำให้เกษตรกรมีทางออก  ซึ่งตามแผน กยท.จะเป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด แม้กระทั่งผลิตภัณฑ์ล้อยาง และก็ขอให้เป็นไปตามคำพูดที่ได้ให้สัญญาไว้  แค่ทำให้เกษตรกรมีความสุข ผมก็พอใจแล้ว”

Retrieved from
https://www.thansettakij.com/business/trade-agriculture/586003